คำอธิบาย
มีคำกล่าวเล่น ๆ ห้าว ๆ ในวงสุราบางกลุ่มของคนอีสานว่า สุดยอดของนกคือ อีเกีย (ค้างคาว) สุดยอดของปลาคือ เอี่ยน (ปลาไหล) เคยทดลองกินอีเกียผสมคลุกเคล้าสมุนไพรเข้มข้นอย่างดีก็ไม่เห็นอร่อย ส่วนเอี่ยนทำอะไรก็ล้วนดีไปหมด มีเรื่องเล่าถึงปลาไหลให้ได้ยินว่า หากปลาไหลมีอายุมากตัวใหญ่สั้น บางตัวมีหูและมีครีบโผล่ออกมา แล้วในที่สุดก็กลายเป็นพังพอน เท่าที่รู้จักและคบหาปลาไหลมาเคยเห็นตัวใหญ่ขนาดข้อแขน ดูน่ากลัวมากกว่าน่ากินไม่เห็นหูเห็นครีบซักตัว ส่วนจะกลายเป็นพังพอนก็คงเป็นจินตนาการ สร้างให้มีอนุภาพพอต่อกรกับงูเห่าได้ เพราะมีรูปลักษณะคล้ายงู เคยเห็นพฤติกรรมแปลก ๆ ของปลาไหล คือระยะฝนใหม่ตกแรง จับตัวปลาไหลได้มันรีบคายลูกเล็ก ๆ ออกจากปากยั้วเยี้ยไปหมด จึงคาดเดาว่า เมื่อมีลูกจะอมไว้ในปาก แล้วย้ายตัวเองพร้อมลูกน้อย ฝ่าน้ำฝนออกจากแหล่งน้ำเก่าไปหาแหล่งอาศัยใหม่
ปลาไหลเป็นสัตว์น้ำ ทำรูอาศัยอยู่ริมหนอง คลอง สระ แหล่งน้ำทั่วไป หากินเวลากลางคืนบริเวณพื้นดินใต้น้ำ กินเนื้อสัตว์หรือสัตว์เน่าตายแล้ว มีสีน้ำตาลเหลือง สีหลังเข้ม สีที่ท้องอ่อนกว่า คล้ายงูไม่มีเกร็ดมีเมือกเหนียว ลำตัวกลมยาวแล้วค่อยแบนไปถึงปลายหาง เป็นอาหารยอดนิยมอย่างหนึ่ง หาได้ตามแหล่งน้ำต่าง ๆ โดยใช้เบ็ด ส้อม อีจู้ และลัน เป็นเครื่องมือล่าและดัก
ลัน เป็นเครื่องมือดักปลาไหล พบเห็นมีใช้อยู่ทั่วไปตามหมู่บ้านชนบท ทำจากไม้ไผ่บ้านทั้งลำ ตัดแบ่งเป็นช่วง ช่วงละประมาณสี่ข้อไม้ ตัดหลังข้อแรกออกได้ปากกระบอก ข้ามไปสามข้อแล้วตัดหลังข้อที่สามเป็นก้น เจาะบากช่องบนปล้องสุดท้ายยาวประมาณหนึ่งคืบใช้เป็นช่องหายใจใช้เหล็กทะลวงข้อภายในเว้นข้อสุดท้าย ทำงาเป็นรูปกรวย สวมหันปลายงาเข้าที่ปากกระบอก ให้ก้นงาคับพอดีกับปากกระบอก เจาะรูด้านริมบนข้างปาก ด้านเดียวกับช่องหายใจที่ก้นกระบอกให้ทะลุลงไปด้านล่าง เหลาไม้เสียบยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เสียบพอดีกับรูที่เจาะผ่านข้างงาทะลุเลยลงด้านล่างใช้เป็นไม้เสียบ ช่วยยึดให้งาติดแน่นกับปากกระบอกและใช้ยึดเสียบดิน
การวางดัก จะใช้ลันหลาย ๆ บั้ง ดักในคราวเดียวกันเวลาเย็น (ชาวอีสานเรียกไม้ไผ่ที่ตัดออกจากกอว่า ลำ เรียกลำที่ตัดเป็นท่อน ๆ ว่า บั้ง เช่น บั้งข้าวหลาม บั้งไฟ บั้งกัญชา บั้งลัน) ใช้ดักได้ตลอดปี แต่ที่นิยมดักคือ หลังสิ้นสุดการเก็บเกี่ยว เพราะปลาจะมีอาหารให้กินอิ่มอ้วนในฤดูฝน แล้วจะเริ่มลดน้อยลงในฤดูแล้ง มีรสชาติดีไม่คาวเหมือนฤดูฝน การวางดักใช้เหยื่อปู หอย ปลาซิว ปลากระดี่ ไส้เดือน สับเพียงอย่างเดียว หรือผสมกัน กรอกลงในปากลันพอสมควรสวมงาใช้ไม้เสียบ เสียบขัดงา ลงดักในน้ำตื้น ริมน้ำ ยกก้นขึ้นให้เหยื่อไหลลงกองกันที่ปากลัน ยกก้นให้ช่องหายใจโผล่พ้นผิวน้ำ ไปปากลันติดชิดผิวดิน กดไม้เสียบ เสียบยึดดินให้แน่น ตกแต่งปากทางเข้าโดยการใช้โคลนทารอบงาบาง ๆ ช่วยให้ปลาตัดสินใจเข้างาเร็วขึ้น ปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืน เมื่อเหยื่อผสมกับน้ำก็จะแพร่กระจายกลิ่นให้ปลาไหลเข้ากินเหยื่อโดยจะผ่านงาติดอยู่ภายใน
ลันทำจากลำไม้ไผ่ มีขนาด 100 – 120 เซนติเมตร ช่องปากกว้าง 5 – 8 เซนติเมตร หากพิจารณาจะพบว่าปลาไหลขนาดเล็กเข้าอาจกลับตัวแล้วหาช่องระหว่างซี่งา แทรกหัวเอาตัวลื่นไหลออกได้ แต่โดยทั่วไปช่องกว้างภายในไม่กว้างพอให้ปลาไหลตัวที่เป็นอาหารได้กลับตัวออกมาทางปากงา นับว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่บังคับทำให้ปลาไหลเสียชื่อไม่สามารถลื่นไหล นอกจากนอนทอดตัวยาวตามความยาวของตัวลันหมดสิทธิ์ U – TURN