คำอธิบาย
เป็นเครื่องมือดักจับปลาไหลมีชื่อเฉพาะเป็นของตัวเอง ทางภาคอีสานกลุ่มไทยลาว เรียกเครื่องมือชนิดนี้ว่า อีจู้ ไม่เรียกตุ้มเอี่ยนหรือตุ้มปลาไหล เหมือนเครื่องดักปลาอื่น ๆ ชื่ออีจู้ ไม่มีที่มา แต่มีชื่อตรงกับนกชนิดหนึ่งเหมือนนกกางเขน แต่มีขนาดเล็กกว่าและไม่สวยสง่างามเท่า เรียก นก “นกอีจู้” เป็นนกกินแมลงและผลไม้ บริเวณพุ่มไม้ กิ่งไม้ทั่วไป ทำรังเป็นรูปถ้วยเล็ก ๆ บนกิ่งที่ไม่สูงมากนัก ชื่อของนกอีจู้และอีจู้ดักปลาไหล มีชื่อเรียกเหมือนกัน เขียนเหมือนกัน แต่ไม่เห็นมีองค์ประกอบอื่น ๆ สัมพันธ์กัน
อีจู้ มีส่วนประกอบสองส่วน ได้แก่ พวยใส่เหยื่อและตัวอีจู้ ทำจากไม้ไผ่เหลาเป็นตอกแบน ขึ้นรูปจากก้นที่พื้น เป็นรูปสี่เหลี่ยมมีตาห่างเล็กน้อย ใช้ไม้ไผ่สองชิ้นขัดเป็นรูปกากบาทสอดที่มุมทั้งสี่ เพื่อยึดให้แข็งแรง แล้วจึงขึ้นรูปด้านบนโดยสานชิดขยายตัวให้ป่อง แล้วสอบขึ้นไปถึงคอ จากนั้น จึงใช้ตอกเส้นเล็กสานผายให้ปากกว้างออกเล็กน้อย มีรูปทรงคล้ายคอขวดคอยาว สูงประมาณ 50 เซนติเมตร ส่วนกว้างสุดเส้นผ่าศูนย์กลาง 25 เซนติเมตร คอกว้าง 8 เซนติเมตร ปากกว้าง 10 เซนติเมตร ด้านข้างเกือบติดพื้นเจาะรูกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เซนติเมตร สวมงาหันปลายงาเข้าด้านใน ยึดรัดปากงาติดกับตัวอีจู้ให้แน่น
พวยเป็นส่วนสำคัญ มีหน้าที่ในการเก็บเหยื่อ จะสวมลงในปากอีจู้ ทำจากไม้ไผ่เหลาเป็นตอกแบนขึ้นรูปทรงกระบอกปิดที่ปลายก้น สานเป็นช่องตาห่างเล็กน้อย ยาวประมาณ 35 เซนติเมตร ปากผายบานออก เมื่อสวมลงในอีจู้ ปากพวยจะปิดคับพอดีกับปากอีจู้ ใช้แทนฝาปิดเมื่อต้องการเทปลาไหลออกก็จะดึงพวยออก
บางพื้นที่นิยมใช้ลันดักปลาไหล แต่บางพื้นที่นิยมใช้อีจู้ดัก ที่อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ ชาวบ้านหลายคนใช้อีจู้ดักปลาไหลขายเป็นอาชีพ หลังจากเสร็จสิ้นจากการเก็บเกี่ยวไปจนถึงกลางเดือนเมษายน โดยจะนำอีจู้ประมาณ 40-50 หลัง แบ่งผูกมัดเท่า ๆ กันถ่วงสองข้างด้านหลังรถจักรยานยนต์ ออกดักปลาไหลบริเวณแหล่งน้ำในท้องทุ่งกุลาร้องไห้ใกล้บ้านตัวเอง ได้ปลาก็ขายให้กับแม่ค้าที่ตลาดค้าปลาริมถนน และที่อำเภอชุมพลบุรีในเขตทุ่งกุลามีปลาไหลมากทางอำเภอได้จัดเทศกาลกินปลาไหล จับปลาไหลเป็นงานประจำอำเภอ
การวางดัก จะเริ่มวางดักช่วงเวลาบ่ายจัดประมาณ 3-4 โมงเย็น ใช้เหยื่อ หอย ปลากระดี่ ปลาซิว ไส้เดือน สับลงบนดิน ใช้มือกวาดเหยื่อรวมทิ้งดินไว้ใส่ในพวย แล้วสวมเข้าปากอีจู้กดปากพวยให้แน่นสนิท ลงดักในน้ำตื้นในระดับที่อยู่ประมาณต้นคออีจู้ เพื่อให้ปลาไหลที่ติดอยู่ภายในหายใจได้ วางอีจู้ลงที่พื้น ปรับพื้นเล็กน้อย ใช้กอหญ้าหรือกิ่งไม้ ช่วยยึดไม่ให้อีจู้ล้ม ปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืน เหยื่อที่รวมกองกันอยู่ที่ก้นพวยจะกระจายกลิ่นออก ปลาไหลได้กลิ่นจะเข้ากินเหยื่อ โดยเข้าช่องผ่านงาเข้าภายในแต่ไม่สามารถกินเหยื่อได้ ดังนั้นอีจู้ จึงสามารถวางดักได้ถึง 2 วันแต่ควรเพิ่มเหยื่อเพิ่มกลิ่นให้แรงขึ้น การเก็บกู้จะใช้เวลาล่าช้า