ที่บ้านชะอำ หมู่บ้านเล็ก ๆ ทางตะวันตกของสถานีรถไฟบ้านชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ชาวบ้านส่วนใหญ่จะเลี้ยงวัวไว้ที่ใต้ถุนบ้านอย่างน้อยครัวเรือนละหนึ่งคู่ เพื่อไถนาและเทียมเกวียน เมื่อถึงเวลาก็จะนำออกไปกินหญ้ากลางทุ่ง วัวจึงจำเป็นต้องใส่เกราะที่คอ เพื่อให้เจ้าของรู้ว่าอยู่แห่งหนใด ซึ่งปกติจะใส่เกราะเพียงตัวที่เป็นจ่าฝูง เพราะวัวตัวที่เหลือจะเดินตามจ่าฝูงเสมอ
คุณช้อง แก้วมงคล ช่างทำเกราะฝีมือดี แห่งบ้านชะอำ กล่าวว่าที่บ้านชะอำจะใช้เกราะสองแบบคือ
๑) เกราะหนิก มีเสียงดังหนิก ๆ ทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้มะเกลือ ไม้ซาก รากไม้แดง รากแสมสาร ซึ่งหาได้ทั่วไปเวลาออกไปเลี้ยงวัวกลางทุ่ง มีส่วนประกอบคือ ลูกเกราะ ทำจากไม้ประดู่หรือไม้ซาก กว้าง ๑ นิ้ว ยาว ๓ นิ้ว บากเป็นร่อง เรียกว่า ปากกา ส่วนที่แกว่งกระทบลูกเกราะจนมีเสียงดัง เรียกว่า ลูกฟัด ทำจากแก่นไม้มะเกลือสีดำ เพราะแข็งแรงและให้เสียงดัง โดยลูกฟัดจะมีสลักเชื่อมกับคิม
๒) เกราะโหน่ง มีขนาดใหญ่กว่าเกราะหนิก ทำจากไม้ไผ่เผาข้าวหลามหรือไม้ไผ่สีสุก กว้าง ๒ นิ้ว ยาว ๗ นิ้ว โดยมีส่วนประกอบอื่นคล้ายเกราะหนิก
สมัยก่อน ช่างทำเกราะแต่ละคนจะมีฝีมือและเสียงเกราะที่เป็นเอกลักษณ์ ได้ฟังก็รู้ได้ทันทีว่าใครเป็นคนทำ แต่สมัยนี้ไม่มีคนทำแล้ว เพราะเสียเวลา ขนาดคุณช้องมีลูกเจ็ดคน ยังมีคนที่สนใจทำเกราะเพียงคนเดียว คุณช้องกล่าวต่อว่า วัวของเขามีทั้ง ๓๐ ตัว จะแขวนเกราะทุกตัว ถ้าหายหรือถูกลักไปจะรู้ได้ทันที พ่อคุณช้องสอนว่า ถ้ามีคนมาแอบตัดเกราะวัวถึงในบ้านก็ไม่ต้องออกตาม เพราะตั้งใจขโมย ตามไม่เจอแน่นอน แต่วัวที่หายกลางทุ่งยังพอตามจากเสียงเกราะได้
วิถีชีวิตคนชะอำในอดีต เมื่อมีงานบุญสลากข้าวเปลือก แต่ละครัวเรือนจะนำข้าวสาร ๑-๒ ถัง ใส่เกวียนมาถวายวัด ทั้งยังสามัคคีช่วยกันทำงาน เช่น ทำขนมจีน ทำขนมหม้อแกง ทองหยิบ ฝอยทอง เป็นต้น ใครมีวัวก็จะตกแต่งวัวของตนเองให้สวยงาม รวมทั้งใส่เกราะวัวให้วัวชูคอตระหง่านอวดความงามของเกราะให้เจ้าของได้ภาคภูมิใจ
ปัจจุบัน เกราะวัวลดความสำคัญลง เพราะเกษตรกรหันมาเลี้ยงวัวเนื้อในคอก จึงไม่จำเป็นต้องใช้เกราะ อีกทั้งวัวสวยงาม ยังนิยมประดับคอด้วยกระดิ่ง กระดึงทองเหลือง หรือกระพรวน แต่คุณช้องยังคงตั้งใจทำเกราะวัวให้คนรุ่นหลังได้รู้จักและสัมผัสถึงความผูกพันระหว่างคนกับวัวตลอดไป