แกะ คือเครื่องมือเก็บข้าวของชาวนาภาคใต้ที่มีลักษณะเรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพ ที่เรียกว่า "เก็บข้าว" เพราะภูมิประเทศของภาคใต้เป็นที่ราบแคบ ปลูกข้าวได้ครั้งละไม่มาก และพันธุ์ข้าวท้องถิ่นมีลำต้นสูง เมื่อรวงข้าวสุก ต้นข้าวจะล้มราบลงกับพื้นและมักสุกไม่พร้อมกันทั้งแปลง การใช้แกะเก็บทีละรวงจึงสะดวกกว่าเครื่องมืออื่น ในขณะที่ภาคกลางมีทุ่งนากว้าง ชาวนาภาคกลางจึงใช้เคียวในการ "เกี่ยวข้าว" ทีละมาก ๆ นั่นเอง
แกะมีส่วนประกอบสำคัญสามส่วนคือ 1) ตาแกะหรือคมแกะ เป็นใบมีดเหล็กกล้า ยาว 5-6 ซม. มีหูแหลมสองข้างสำหรับตอกฝังติดกับกระดานแกะ 2) กระดานแกะ ทำจากไม้เนื้อแข็งหรือไม้เบา เช่น ไม้ตีนเป็ด ไม้เค โดยจะตัดไม้เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู กว้าง 4 ซม. หนา 0.5 ซม. ด้านหนึ่งยาว 5-6 ซม. ใช้ตอกติดตาแกะ อีกด้านหนึ่งยาว 8-9 ซม. เป็นที่ติดด้ามแกะ 3) ด้ามแกะ ทำจากไม้ไผ่เรี้ย เรียกสั้น ๆ ว่า "เรี้ย" ยาวประมาณ 7-8 ซม. เสียบขวางติดกับกระดานแกะ ใช้เป็นด้ามจับ
วิธีใช้ ให้นำแกะใส่ระหว่างนิ้วกลางกับนิ้วนาง ใช้นิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือจับรวงข้าวทาบกับคมแกะแล้วตัดทีละรวง ใช้มืออีกข้างกำรวงข้าวที่ตัดแล้วมารวมกัน เมื่อเต็มกำมือแล้วจึงนำไปวางไว้ที่อื่น เพื่อผูกทำเป็นเลียงข้าวแล้วนำไปเก็บในเรินข้าวหรือลอมข้าวต่อไป
ชาวใต้ เคารพยกย่องแม่โพสพ และถือว่าข้าวเป็นของประเสริฐ การเก็บข้าวจึงต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้เมล็ดข้าวตกเรี่ยราด เพราะจะถือว่าเป็นบาปและแม่โพสพจะหนีไป การใช้แกะเก็บข้าวจึงเป็นวิธีที่ดี เพราะไม่ทำให้เมล็กข้าวตกหล่นเสียหาย
เดิมที แหล่งผลิตแกะที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลา คือ โรงตีเหล็กที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง และบ้านบ่อสระ อำเภสิงหนคร แต่ปัจจุบันเลิกกิจการไปหมดแล้ว เพราะมีการใช้รถเกี่ยวข้าวกันมากขึ้น เพราะสะดวก รวดเร็ว ทำให้มีผู้ใช้แกะเก็บข้าวน้อยลง
แกะเก็บข้าว
อัพเดตเมื่อ 13 พ.ค. 2564
คำอธิบาย