กัวะป๋งข้าว



คำอธิบาย

"กัวะ" คือภาชนะทรงกลมมีหูหิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 60 ซม. สูงประมาณ 10 ซม. ทำจากไม้สักเนื้อเดียวเลื่อยจากโคนต้น เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง ไม่มียาง ทำความสะอาดง่าย โดยการใช้สิ่วขุดเจาะและขัดผิวให้เรียบจนมีลักษณะคล้ายถาด มีความลึกประมาณ 6 ซม.

แม่บ้านชาวล้านนาในอดีต ต้องเตรียมอาหารให้สมาชิกในครอบครัวแต่เช้า ข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักที่ขาดไม่ได้ในแต่ละวัน โดยจะต้องนึ่งใหม่ทุกเช้า เมื่อสุกแล้ว จะโกยข้าวเหนียวลงใน "กัวะ" ที่พรมน้ำไว้เล็กน้อยป้องกันข้าวเหนียวติด แล้วใช้ไม้ด้ามหรือไม้พายพลิกเกลี่ยข้าวเหนียวกลับไปมาให้ไอร้อนระเหยออกไปจนหมด จะได้ข้าวเหนียวที่สุกนิ่ม น่ากิน ไม่แฉะติดมือ ปั้นเป็นรูปง่าย เก็บใส่แอ๊บหรือกระติกไว้กินได้ตลอดวัน ถ้ากินไม่หมด ก็นำมาอุ่นในวันรุ่งขึ้นต่อได้ ต่างจากข้าวเหนียวแฉะที่บูดง่ายและรสชาติไม่ดีหากนำมาอุ่นใหม่

กัวะมีทั้งลักษณะกลมและสี่เหลี่ยม แต่ละใบใช้งานได้หลายสิบปี บางครอบครัวเปลี่ยนไปใช้กัวะสังกะสี แต่ระบายความร้อนยากกว่าไม้ เมื่อใช้กัวะเสร็จแล้วต้องล้างด้วยน้ำสะอาดแล้วแขวนผึ่งลมให้แห้ง ห้ามตากแดดเพราะจะทำให้ไม้แตก นอกจากนี้จะไม่วางกัวะในที่ต่ำ เพราะคนล้านนาเชื่อว่าข้าวเป็นของสูง กัวะจึงต้องเก็บไว้ในที่สูงด้วย ยิ่งเป็นภาชนะใส่อาหาร หากวางในที่ต่ำจะสกปรกง่าย และจะทำให้ข้าวเหนียวสกปรกด้วย

ปัจจุบัน ยังมีการใช้งาน เพราะชาวเชียงใหม่ยังนิยมกินข้าวเหนียวอยู่ แต่ไม่ใช่กัวะที่แกะจากสิ่วดังเมื่อก่อน เป็นกัวะที่ขึ้นรูปด้วยเครื่องกลึงสมัยใหม่ กัวะรุ่นเก่าแปรสภาพเป็นของประดับตกแต่งบ้านเรือนไป เช่น ป้ายเลขที่บ้าน ป้ายร้านอาหาร ป้ายรีสอร์ต เป็นต้น