"ขนมก้อ" หรือ "ตือปงปูตู" เป็นขนมพื้นบ้านของชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนคือ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ใช้ในพิธีกรรมตามคติพราหมณ์-ฮินดู เช่น แต่งงาน มีรูปร่างและลวดลายสวยงามต่างกันไป เช่น รูปเขาพระสุเมรุ รูปปลา รูปกลม เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์สำคัญคือ "เบ้าขนมก้อ"
ขนมก้อ นอกจากใช้ในงานพิธีแล้ว ยังรับประทานได้ทุกมื้อ นิยมรับประทานคู่น้ำชา มีส่วนผสมคือ น้ำตาลทราย งาขาวงาดำ ข้าวเหนียวคั่วบดละเอียด โดยเริ่มจากต้มน้ำตาลด้วยไฟปานกลางจนเดือดเป็นฟอง แล้วยกขึ้นคนน้ำเชื่อมให้เย็นลงจนจับตัวเป็นเกล็ดคล้ายทรายละเอียด พักต่อจนเย็น นำข้าวเหนียวคั่วบดละเอียดผสมสงไป ใส่งาขาวหรืองาดำเล็กน้อย นวดให้เข้ากัน แล้วจึงนำมาอัดใส่ "เบ้าขนมก้อ" ลายต่าง ๆ จากนั้นจึงเคาะขนมออกจากเบ้า เพื่อระบายสีให้สวยงาม โดยเป็นสีจากธรรมชาติ เช่น ดอกอัญชัน แก้วมังกร เป็นต้น
เบ้าขนมก้อ ทำจากไม้เนื้อแข็ง มีขนาดและลวดลายที่ต่างกันไป ในอดีต การทำเบ้าขนมก้อจะใช้เวลาประมาณสองวัน รวมการสลักลายแล้ว วันแรกเป็นการขึ้นโครง ไสกบ ขัดไม้ และสร้างแบบ วันต่อมาเป็นการลงแบบ ด้วยการวาดแบบในกระดาษ แล้วนำกระดาษไปประกบกับแผ่นไม้ที่เตรียมไว้ ใช้สิ่วสลักรูปทรงลวดลายตามแบบที่วาดไว้ ต้องการให้ขนมหนาเท่าไร ก็แกะให้ลึกตามต้องการ เมื่อสกัดเสร็จแล้วจึงเก็บงานให้เรียบด้วยกระดาษทราย ปัจจุบันมีการใช้เครื่องกลึงช่วยในการสลักลาย จึงทุ่นแรงได้มาก
นอกจากเบ้าขนมก้อรูปเขาพระสุเมรุตามคติพราหมณ์-ฮินดูแล้ว ยังมีรูปทรงอื่น ๆ ด้วย เช่น นกเงือก นกยูง หัวม้า หัวช้าง ไดโนเสาร์ สับปะรด ดอกไม้ เป็นต้น ลูกค้าต้องการขนมก้อลายใดเป็นพิเศษก็สั่งให้แกะเบ้าลายนั้นได้ ยกเว้น "ลายกริช" เพราะมีเรื่องเล่าว่า เคยมีคนกินขนมก้อรูปกริชแล้วปวดท้องจนเสียชีวิต ขนมก้อลายกริชจึงเป็นสิ่งต้องห้าม ปัจจุบัน มีเบ้าขนมก้อทำจากโลหะที่คงทนกว่า ใช้งานง่ายกว่าเพราะขนมไม่ติดเบ้า แต่ลายจะไม่ละเอียดสวยงามเท่าเบ้าไม้
ขนมก้อของกลุ่มแม่บ้านตะโล๊ะหะลอ นอกจากรสชาติอร่อยแล้ว ยังสวยงามต่างจากขนมก้อทั่วไปที่เป็นก้อนกลมเรียบ เพราะใช้เบ้าที่แกะลวดลายงดงาม จึงมักมีผู้สนใจสั่งไปประกอบงานมงคลเสมอ
เบ้าขนมก้อ
อัพเดตเมื่อ 20 พ.ค. 2564
คำอธิบาย