บ่วงฮ่างแย้ ทำจากไม้ไผ่เหลาเรียวคล้ายคันเบ็ด โคนไม้ติดกระบอกที่ทำจากท่อพีวีซี (ท่อเทปสะล่อน) ซึ่งพัฒนามาจากกระบอกไม้ไผ่ ใช้เชือกผูกปลายไม้ไผ่ให้แน่น ส่วนปลายที่ติดกับกระบอกให้ทำเป็นบ่วงเชือกรูดเข้าออกได้ จากนั้นจึงน้าวเชือกให้บ่วงครอบกระบอก ต้องน้าวจนไม้ไผ่โค้งงอ แล้วจึงใช้สลักขัดไว้ รอให้ตัวแย้มาติดบ่วง
วิธีการใช้งาน ชาวบ้านต้องสังเกตรูแย้เป็น โดยจะมีลักษณะเกลี้ยงเกลา ไม่มีเศษดินหรือกองดินที่ปากรู โดยธรรมชาติของแย้จะขุดรูไว้สามรูคือ รูหลัก เป็นทางเข้าออกปกติ รูกลาง อยู่ห่างจากรูหลักราว ๐.๕ ซม. เป็นทางออกสำรองเมื่อออกรูหลักไม่ได้ และแปว เป็นทางออกฉุกเฉินที่อยู่ไกลออกไป โดยรูเหล่านี้จะสังเกตเห็นได้ง่ายในช่วงหน้าแล้ง เมื่อพบรู้แย้แล้วก็นำบ่วงฮ่างแย้ที่น้าวเชือกพร้อมใช้งาน ปักที่รูแย้ให้กระบอกและบ่วงเชือกครอบอยู่เหนือรู เมื่อแย้คลานขึ้นมาจะโดนกลไกในกระบอกดันสลักหลุด คันไม้ไผ่จะดีดกลับดึงบ่วงเชือกให้รัดตัวแย้ได้พอดี เป็นกลไกง่าย ๆ ที่ได้ผลดี
บ่วงฮ่างแย้ ไม่ใช่ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนนที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจากรุ่นสู่รุ่น โดยคุณอนันต์ เวียนสันเที๊ยะ ชาวบ้านหัวขัว ต. ท่าขอนยาง อ. กันทรวิชัย จ. มหาสารคาม ที่เดินทางไปมาระหว่าง จ. มหาสารคาม กับ จ. นครราชสีมาอยู่บ่อย ๆ ได้เรียนรู้วิธีการทำบ่วงฮ่างแย้จากคนเลี้ยงวัว จ. นครราชสีมา เพราะในอดีตชาวบ้านที่นี่หาแย้ด้วยวิธีการขุด พอแย้วิ่งหนีก็จะตามจับไม่ทัน
คุณอนันต์เล่าต่อว่า ชาวอีสานจะหาแย้เฉพาะหน้าแล้ง หรือเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ได้ทำนา แย้จะออกจากรูมาหากินหลังจากวางไข่และฟักไข่ตลอดฤดูฝน เมนูเด็ดคือ ลาบแย้หรือก้อยแย้ ต้องลอกหนังแย้ออกแล้วล้างให้สะอาด นำไปทอดหรือย่างให้กรอบ ใส่ครกตำกับเครื่องลาบ ได้แก่ พริกผง ข้าวคั่ว มะนาว มะม่วง และผงชูรส