ไซพวย



คำอธิบาย

ไซพวย (ชาวบ้านเรียกว่า ไซดอ) เป็นเครื่องมือดักปลาขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในท้องนาและลำคลอง เช่น ปลาซิว ปลาตะเพียนขาว ที่คนท้องถิ่น ต. โคกม่วง อ. คลองหอยโข่ง จ. สงขลา เรียกว่า ปลาลูกขาว ทำจากไม้ไผ่จักซี่เล็ก ๆ เหลาให้กลม ใช้เชือกไนลอนหรือย่านลิเภาถักติดกับโครงหวายให้เป็นทรงกระบอก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๐ ซม. สูง ๓๐ ซม. มีที่ปิดหัวท้ายทำจากไม้ไผ่และหวายเช่นกัน กลางตัวไซจะเจาะรู้เพื่อใส่พวย ทำจากกระบอกไม้ไผ่ ใช้ใส่เหยื่อล่อปลา ในพวยมีงา ทำจากไม้ไผ่เหลาเป็นซี่แหลมเล็กสานด้วยย่านลิเภา มัดติดกับปลายพวยด้านที่อยู่ในตัวไซด้วยใยโหนด (ตาลโตนด) ป้องกันไม่ให้ปลาที่ว่ายเข้าไปในไซแล้ว ว่ายกลับออกมา จากนั้นจึงเหลาไม้ไผ่ให้เรียวยาว มัดติดกับตัวไซด้านหนึ่ง ดัดโค้งผ่านด้านบนของไซไปมัดติดกับอีกด้านหนึ่ง จะเป็นหูสำหรับจับ และส่วนปลายไม้ไผ่จะเป็นขาสำหรับปักยึดพื้นไม่ให้ไซล้มไปตามกระแสน้ำ ทั้งนี้วัสดุที่ใช้ทำไซพวกก็มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา เช่น ซี่ไม้ไผ่ก็ใช้ตาข่ายไนลอนแทน พวยก็ทำจากท่อพีวีซีหรือขวดน้ำพลาสติก เป็นต้น เพราะไม้ไผ่หายาก

วิธีการใช้งาน ชาวบ้านจะเลือกจมไซหรือดักปลา ตามท้องนาที่มีน้ำไหลผ่านและระดับน้ำลึกพอควร โดยปักไซพวยหลายตัวกระจายไป เน้นบริเวณริมตลิ่งหรือริมคันนา ที่ระดับน้ำลึก ๖๐-๘๐ ซม. ใช้รำข้าวที่เป็นเหยื่อล่อปลาใส่ลงในพวย รำข้าวบางส่วนจะลอยไปตามกระแสน้ำ ล่อปลาให้มากินรำข้าวแหล่งใหญ่ในพวยจนปลาติดไซโดยปลาไม่ตาย สามารถจมไซไว้ตอนเช้าแล้วกลับมาเก็บตอนเย็นได้ โดยไซพวย ๔-๕ อัน จับปลาได้ประมาณ ๑๐ กก.

ด้วยภาวะราคายางพาราตกต่ำในปัจจุบัน การใช้ไซพวยดักปลาไว้กินเองก็ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของชาวบ้านได้บ้าง หากได้ปลามามากก็พอจะแบ่งขายได้อีกด้วย นอกจากนี้ บทบาทใหม่ของไซพวยคือการเป็นของที่ระลึกและเครื่องประดับตกแต่งบ้านนอกเหนือจากการเป็นเครื่องมือดักปลา ชาวบ้านคลองหอยโข่งที่มีฝีมือในการทำไซพวยสามารถทำขายได้ลูกละ ๒๐๐-๓๐๐ บาท มีทั้งส่งไปขายในงานประเพณีท้องถิ่นและลูกค้ามารับถึงชุมชน