ขาเกี๊ยะ เป็นหนึ่งในชุดอุปกรณ์จับเคยหรือกุ้งเคย สัตว์น้ำคล้ายกุ้งแต่มีขนาดเพียง ๑.๕ ซม. วัตถุดิบสำคัญในการทำกะปิของชาวบ้านขุนสมุทรจีน ต. แหลมฟ้าผ่า อ. พระสมุทรเจดีย์ จ. สมุทรปราการ โดยชาวบ้านจะใช้คันดุน (ระวะ) ที่มีลักษณะเป็นสวิงขนาดใหญ่ไสไปตามชายฝั่งและริมตลิ่งที่เคยอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง แต่ด้วยสภาพพื้นชายหาดเป็นดินเลน จึงต้องมีอุปกรณ์ที่ช่วยให้ทรงตัวและเดินฝ่าน้ำได้โดยไม่จม ทั้งยังป้องกันปลาดุกทะเลหรือวัสดุอื่นแทงตำเท้า ทำให้การจับเคยเป็นไปด้วยความสะดวกราบรื่น
ส่วนโป๊ะเกี๊ยะและขาเกี๊ยะ จะใช้ไม้สักหรือไม้ฉำฉา แต่ชาวประมงจะนิยมใช้ไม้สักเพราะทนแดดและน้ำทะเล ยิ่งใช้ไปนาน ๆ จะยิ่งมีสีดำเป็นเงางาม ส่วนหูหนีบเกี๊ยะจะใช้กาบมะพร้าวทุบเป็นเส้น สางให้เรียบร้อยแล้วฟั่นเป็นเกลียว เจาะรูร้อยเข้ากับโป๊ะเกี๊ยะแล้วใช้ผ้าพันอีกชั้นหนึ่ง
ขาเกี๊ยะจะมีสามขนาดคือ ๑) โป๊ะเกี๊ยะ เป็นเกี๊ยะที่ไม่ได้ต่อขา ๒) เกี๊ยะกลาง สูงประมาณหนึ่งศอก (๕๐ ซม.) ๓) เกี๊ยะยาว สูงประมาณสามศอก (๑.๕ เมตร) เหตุที่ต้องมีขาเกี๊ยะต่างขนาดกันเพราะต้องใช้หาสัตว์น้ำในพื้นที่ที่น้ำลึกตื้นต่างกัน
ขาเกี๊ยะไม่ใช่อุปกรณ์ที่ใช้กันได้โดยง่าย ต้องมีการฝึกฝนใช้งานให้คล่องก่อน คุณงาม บุญเจ๊ก บอกว่า คนที่เดินไม่เป็น เลนจะดูด แต่ถ้าเป็นแล้ว จะเดินพุ่งไปข้างหน้าได้เลย ชาวประมงบ้านขุนสมุทรจีนฝึกเดินบนขาเกี๊ยะกันตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อยอายุราว ๑๐ ปี หกล้มจมน้ำอยู่หลายครั้ง ถูกหูหนีบเกี๊ยะบาดจนชิน แต่เมื่อชำนาญแล้ว เวลาใช้งาน ร่างกายแทบไม่เปื้อนดินเลนหรือน้ำเลย
ปัจจุบัน ไม่มีชาวประมงใช้ขาเกี๊ยะในการจับเคยอีกแล้ว เพราะใช้เรือยนต์ติดคันดุนแทน ซึ่งหาเคยได้มากและรวดเร็ว ทำให้ไม่มีเคยหลงเหลือมาถึงชาวประมงที่ใช้วิธีการดั้งเดิม ครั้นจะให้ออกไปหาเคยไกลจากฝั่ง น้ำก็ลึกเกินไป ตลอดจนสมัยนี้มีรองเท้ายาง น้ำหนักเบา ทนทาน ทำให้เดินบนเลนได้สะดวก ขาเกี๊ยะจึงลดความสำคัญลงไป