เครื่องมือจับปลาพบเห็นได้ทุกครัวเรือน ชายหนุ่มลูกอีสานจะได้รับการฝึกสอนให้ถักแหและใช้หว่านหาปลาเป็นตั้งแต่เยาว์วัย ก่อนที่จะแต่งงานออกครองเรือนหาเลี้ยงครอบครัวได้ แหเป็นผืนตาข่ายกลมใช้หว่านคลุมสัตว์ที่อาศัยในแหล่งน้ำทั่วไปได้ตลอดปี แหทำจากเส้นเชือกถักด้วยชุน ซึ่งเป็นไม้ไผ่เหลาแบนปลายแหลมมีเดือยอยู่ตรงกลางใช้สำหรับพันเชือกแหมีส่วนประกอบได้แก่
จอมแห คือ ส่วนที่อยู่ปลายบนสุด อยู่กึ่งกลางปากแห ถักเป็นห่วงใช้ดึงลากให้แหหุบเข้ารวมกัน
ตาข่าย คือตัวแหที่ถักเป็นรัศมีให้กว้างกลมออกไปเรื่อย ๆ ช่องตาข่ายมีความกว้างตั้งแต่ครึ่งนิ้วถึง 2 นิ้ว มีความยาว 6 ถึง 12 ศอก ใช้เลือกจับปลาตามแหล่งน้ำที่มีขนาดต่างกัน
ลูกแหทำจากเหล็กเส้นเล็ก ๆ ตัดเป็นเส้นสั้น ๆ ตัดเป็นวงแหวน คล้องต่อกันเป็นเส้นยาวคล้ายโซ่ ผูกมัดติดริมรอบปากแห วัดลูกแหประมาณ 1 คืบ ผูกเชือกที่ลูกแหแล้วใช้เชือกผูกต่อขึ้นบนตาข่าย คล้ายเป็นถุงกรอง รอบปากแห ลูกแหมีหน้าที่ถ่วงดึงให้ตาข่ายจมน้ำ
แหมีความยาว 11-12 ศอกมีช่องตาห่าง มุ่งจับปลาตัวใหญ่จะหว่านลงในน้ำลึก หรือ หว่านบนเรือ ผู้ใช้ต้องแข็งแรง เชี่ยวชาญ มีเชือกผูกที่จอมแห เมื่อหว่านลงน้ำแล้วปล่อยไว้สักครู่ จึงค่อย ๆ ดึงเชือกขึ้น ปากแหที่วางครอบปลาที่พื้นจะค่อย ๆ หุบตัวรวมกันครอบรวบปลาให้อยู่ภายในตัวแห แหขนาด 9-10 ศอก ใช้หว่านลงในน้ำทั่วไป ขนาด 6-8 ศอก ช่องตาแหกว้าง 1 นิ้ว หว่านจับปลาได้ทุกขนาดในแหล่งน้ำที่น้ำไม่ลึกมาก ชาวบ้านเรียก “แหขยัน” หมายถึงผู้หว่านต้องหว่านบ่อย ๆ ไม่เลือกปลาถือคติว่า “ไม่ได้ต้มก็ได้ป่น” หากได้ปลาขนาดพอต้มก็ต้มแต่ถ้าได้ปลาขนาดเล็กก็ต้มกับน้ำปลาร้า ขูดเนื้อปลาตำพริก (ตำป่น) ถ้าแหห่างประมาณครึ่งนิ้ว ใช้หว่านปลาซิว ตัวใหญ่ในช่วงต้นฤดูฝน หรือใช้หว่านปลาหลดตามลำธาร คลองน้ำ ที่น้ำเริ่มไหลเชี่ยวในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม
วิธีการใช้ แหใช้ได้ตลอดเวลาที่ต้องการตามแหล่งน้ำทั่วไป ใช้มือแรกดึงจอมแหขึ้นแล้วพับแหยาวประมาณ 1 ศอก 3 ถึง 4 พับ (ความยาวและจำนวนพับขึ้นอยู่กับความยาวแห) แยกริมตาข่ายแหพาดคลุมที่ข้อศอก ใช้มืออีกข้างหนึ่งแบ่งจับลูกแหและแบ่งชายตาข่ายถือกำไว้ข้างละครึ่ง มือแรกกำส่วนแหที่ได้ไว้ข้างเอว จะเป็นแรงส่ง เมื่อใช้จะเอี้ยวตัวเพื่อเพิ่มแรงเหวี่ยวและแรงส่ง เวลาเห็นปลาบ้วนขึ้นหายใจจะเอี้ยวตัวหว่านแหไปที่เป้าหมาย ลูกแหจะกระจายออกไปทำให้ส่วนอื่น ๆ กระจายเป็นวงกว้าง คลุมหน้าน้ำ ลูกแหจะถ่วงให้ตาข่ายตามลงไปถึงผิวดินใต้น้ำ
แหสามาถใช้ออกหว่านเพียงคนเดียว หรืออาจมีการนัดหมายไปเป็นกลุ่มหลายคน เลือกแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เฝ้ารอดูปลาบ้วน (ปลาขึ้นหายใจ) ต่างคนต่างหว่านหรือมีการวางแผนกระจายตัวกันเป็นวงกลม แล้วหว่านเข้าวงกลมทีละคนเป็นการป้องกันสกัดกั้นไม่ให้ปลาเล็ดลอดหนี บางครั้งสถานที่ ๆ มีกอไม้น้ำ กิ่งสุมกองอยู่ในน้ำ ใช้อวน ซึ่งเป็นตาข่ายผืนยาวมีลูกแหถ่วงอยู่ด้านล่าง ลากลงน้ำข้างหนึ่งช้า ๆ อ้อมพงไม้ กิ่งไม้ แล้วกลับมาที่ฝั่ง จากนั้นจึงช่วยกันลากดึงไม้น้ำ กิ่งกอไม้ออกเป็นการใช้อวนล้อมปลาให้อยู่ในเขตจำกัด แล้วต่างคนต่างหว่านแหลงในวงล้อม การกระทำลักษณะนี้ อาจเรียกว่า หว่านล้อม คำว่า “หว่านล้อม” มีความหมาย ค่อย ๆ หาเหตุผลมาประกอบการพูด เพื่อต้องการให้บุคคลเชื่อและยอมรับ แต่การหว่านแหมีลักษณะค่อย ๆ จำกัดขอบเขต แล้วช่วยกันหว่านแหจับปลาให้ได้ ดังนั้นคำว่า “หว่านล้อม” จึงมีความสัมพันธ์ด้วยการใช้แห “หว่าน” โดยผู้หว่านที่มีลักษณะคนจะ “ล้อม” รอบเป็นวง