จั่นใย เป็นเครื่องมือดักปลาขนาดใหญ่ น้ำหนักตัวเกิน 10 กิโลกรัม เช่น ปลาค้าว ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลากด ปลากระโห้ ปลาตะโกก เป็นต้น
ส่วนประกอบสำคัญของจั่นใยคือ ตัวจั่นและประตู
ตัวจั่น ทำจากไม้ไผ่สานเป็นรูปทรงกระบอกก้นสอบลึกสามเมตร ปากทางเข้า กว้างหนึ่งเมตร ความห่างของลายสาน ห่างกันช่องละ 3-5 เซนติเมตร มีเส้นหวายมัดขวางภายในจั่นประมาณ 4-5 เส้น เรียกว่าสายใยหรือใย เพื่อยึดไม้ขวางที่ขัดเดือยกับปิ่น ปากจั่นใช้หวายหรือตอกผิวไผ่มัดประกบ ทำเป็นขอบประตูให้ยกขึ้นลงได้
ส่วนประตูทำจากลำไม้ไผ่ ยาวประมาณ 2-3 เมตร เป็นหลักยึดคาน แล้วใช้หวายพาดคานโดยมัดกับปิ่นที่เป็นเดือยขัดกับไม้ขวางอีกชั้นหนึ่ง ส่วนบนของประตูจะแขวนเกราะไว้เพื่อส่งสัญญาณ
เวลาใช้งาน ต้องใช้อย่างน้อยสองคนช่วยกันยกลงไปวางตามแหล่งน้ำ เพื่อความปลอดภัยและป้องกันความเสียหาย เพราะเป็นอุปกรณ์ขนาดใหญ่ จากนั้นจึงยึดจั่นให้มั่นกับพื้น เพื่อไม่ให้จั่นไหลตามแรงน้ำ นำกิ่งไม้มีใบไปปักไว้ข้าง ๆ จั่น เรียกว่า “หูช้าง” เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาหนีออกข้างจั่น จากนั้นจึงรอเวลาให้ปลาว่ายเข้ามาในจั่น
เมื่อปลาว่ายเข้ามาในจั่นจะชนสายใยที่ขึ้งไว้ ทำให้ไม้ขวางกับปิ่นหลุดออกจากกัน ประตูจั่นจะร่วงลงมาปิดปากจั่นขังปลาเอาไว้ ถ้าเป็นปลาที่มีน้ำหนักมาก จะดิ้นจนจั่นสั่นไหว ทำให้เกราะที่แขวนไว้ด้านบนมีเสียงดัง เป็นสัญญาณเตือนให้ชาวบ้านรีบนำปลาออกจากจั่นโดยไว เพื่อให้ได้ปลาสดบาดแผลน้อย บางครั้งอาจดักได้สองตัวในคราวเดียวก็มี
ปลาตัวใหญ่ที่ดักได้ นอกจากจะนำไปแบ่งปันกันในหมู่ญาติสนิทมิตรสหายแล้ว มักนำไปถนอมอาหารเป็นปลาย่าง ปลาร้า ปลาเจ่า หรือน้ำปลา และแบ่งขายด้วย
จั่นใย
อัพเดตเมื่อ 13 พ.ค. 2564
คำอธิบาย