อีโหง



คำอธิบาย

โดยปกติ เมื่อฝนทิ้งระยะจนระดับน้ำลดลงต่ำกว่าคันนา ปลาที่ยังเหลืออยู่ในนาจะขยายพันธุ์ เป็นโอกาสให้ชาวบ้านได้จับปลาเล็กปลาน้อย โดยแปลงนาที่ไถเพื่อเตรียมดินปลูกข้าว มักจะมีน้ำขังเป็นแอ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ และมีดินโคลนจากการไถนา (ขี้ไถหรือขี้ไถ้) โผล่พ้นน้ำด้วย เหล่าปลาเล็ก ๆ จะอาศัยอยู่ตามแอ่งเหล่านี้ ชาวบ้านจึงมีเครื่องมือที่ใช้จับปลาเหล่านี้โดยเฉพาะ เรียกว่า “อีโหง”

อีโหงคือ เครื่องมือช้อนปลาบริเวณน้ำตื้น เช่น แอ่งน้ำแคบ ปลักควาย ร่องน้ำ แปลงนา เป็นต้น มักใช้ดีในฤดูฝน เพราะน้ำหลากทำให้ปลาพล่านไปตาแหล่งน้ำต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นปลาดุก ปลาช่อน ปลาหมอ และปลากระดี่

อีโหงทำจากไม้ไผ่สาน ๓๐-๔๐ เส้น ลักษณะคล้ายสุ่มแต่เล็กกว่าและสานตาถี่กว่า มีก้นลึกแต่ปากบาน ระยะจากก้นถึงปาก ประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ส่วนปากกว้าง ๒๐ เซนติเมตร บางชิ้นกว้าง ๔๐ เซนติเมตร ส่วนปากอีโหงเป็นส่วนที่ถูกกระทบมากที่สุด จึงต้องเพิ่มความแข็งแรงด้วยการใช้ซี่ไม้ไผ่ขดเป็นวงมัดด้วยหวาย ป้องกันไม่ให้ตอกหลุดลุ่ย

ชาวบ้านจะใช้มือสองข้างจับปากอีโหงวิดน้ำหรือส่ายไปมา กระแสน้ำที่พัดจะทำให้ปลามึนงงจนหลงเข้ามาในอีโหงในที่สุด แต่ทั้งนี้ต้องยกขึ้นดูเป็นระยะ เพราะแหล่งน้ำบริเวณที่จับปลาจะมีตะกอนมาก มองเห็นปลาไม่ชัดเจน

ปลาที่จับได้จะมีขนาดเล็กไม่เกินนิ้วก้อย ชาวบ้านนิยมนำมาทอดเกลือ ฉู่ฉี่ หรืองบปลา (คล้ายห่อหมก แต่ใช้วิธีปิ้งไฟแทนการนึ่ง)

นอกจากนี้ ประโยชน์ทางอ้อมของการใช้อีโหงจับปลาคือ การตัดตอนการเจริญเติบโตของปลา เพราะหากปล่อยให้ต้นข้าวเจริญเติบโตพร้อมกับปลา จะเป็นการเรียกนกให้มาจิกกินปลา จนส่งผลให้ต้นข้าวได้รับความเสียหายได้