กระดานถีบเป็นอุปกรณ์ทำมาหากินสำคัญของชาวประมงชายฝั่ง บริเวณที่มีหาดโคลนและป่าโกงกาง ช่วยผ่อนแรงในการหาหอย ปู ปลา และสัตว์น้ำอื่น ๆ หากไม่มีกระดานถีบ ชาวประมงต้องเดินลุยดินเลนที่สูงถึงเอว อาจก่อให้เกิดอันตรายได้
โดยทำจากไม้สักหรือไม้เนื้อแข็ง หน้ากว้าง 10-12 นิ้ว หนาประมาณ 1 นิ้ว มีความยาวพอประมาณ ไม่สั้นหรือยาวเกินไป เพราะถ้าสั้นเกินไปจะทำให้ไถไม่ไป แต่หากยาวเกินไปก็จะบังคับเลี้ยวยาก ส่วนหัวจะดัดให้งอนเชิดขึ้น มีแผ่นไม้เจาะรูตอกติดไว้เพื่อร้อยเชือก สำหรับลาก ส่วนกลางใช้วางภาชนะเก็บสัตว์น้ำที่หาได้ ส่วนท้ายใช้วางขา
ชาวประมงบ้านขุนสมุทรจีน ใช้เป็นพาหนะเก็บหอยแครงและหอยพิมบนหาดเลนตั้งแต่บ้านขุนสมุทรจีนไปจนถึงแหลมสิงห์หรือป้อมพระจุลจอมเกล้า โดยจะถีบกระดานไปบนผิวเลน พร้อมทั้งใช้สวิงช้อนหอยใส่หลัวที่วางอยู่บนกระดาน
ปัจจุบัน หาไม้กระดานแผ่นเดียวสำหรับทำกระดานถีบได้ยาก ชาวบ้านจึงดัดแปลงด้วยการใช้ไม้กระดานแผ่นเล็ก ๆ ต่อเข้าด้วยกันจนได้ขนาด นอกจากนี้ยังประยุกต์ใช้ไม้อัด พลาสติก และโฟมในการทำกระดานด้วย เพราะเป็นวัสดุที่หาง่ายในปัจจุบัน
คุณเชาว์ ฟักแฟง กล่าวว่า ชายฝั่งบ้านขุนสมุทรจีนในอดีตมีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งกุง หอย ปู ปลา เพราะเป็น "ที่ฟันหลอ" คือมีชายฝั่งโค้งเว้าเข้ามาเป็นอ่าวเล็ก ๆ อยู่ระหว่างปากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน มีดินเลนทับถมกันมาก แต่ปัจจุบัน พื้นที่นี้ถูกน้ำทะเลกัดเซาะถึง 10 กิโลเมตร อีกทั้งยังมีการใช้เครื่องมือประมงสมัยใหม่ในการจับสัตว์น้ำชายฝั่ง ตลอดจนมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้พื้นที่บริเวณนี้เหลือทรัพยากรน้อยลง การทำประมงพื้นบ้านด้วยเครื่องมือแบบดั้งเดิม เช่น กระดานถีบ ขอแหย่ปู เรือพาดหางติดอวนดุนเคย เป็นต้น ต่างได้รับผลกระทบ เพราะชาวประมงเก็บหาทรัพยากรเพื่อการดำรงชีพได้ไม่สะดวกเหมือนเคย คุณเชาว์และชาวบ้านขุนสมุทรจีน จึงรวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องทรัพยากรในบ้านเกิดและวิถีชีวิตการทำมาหากินด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ฟื้นฟูป่าตามแนวชายฝั่งเพื่อสะสมดินเลนและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ไม่จับสัตว์น้ำที่ยังโตไม่เต็มที่ เจรจากับคนต่างถิ่นให้ใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้าน ทำงานร่วมกับองค์กรและสถาบันการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวและยั่งยืน เพื่อเป็นมรดกให้คนรุ่นหลังต่อไป
กระดานถีบ
อัพเดตเมื่อ 12 พ.ค. 2564
คำอธิบาย