แหเปิดจอม เป็นเครื่องมือจับปลาที่พัฒนาจากแหปกติ มักใช้ในแหล่งน้ำที่ระดับต่ำกว่าหน้าอก ใช้ได้ดีในพื้นที่รก มีเศษไม้ เศษหญ้า หรือผักตบชวา ต้องใช้คนมากกว่าสามคนกางแหพราะไม่สามารถหว่านกระจายได้เหมือนแหทั่วไป
คุณสุทธิ เหล่าฤทธิ์ และ คุณบุญเลิศ บุญมาก ชาวบ้านขี้เหล็กใหญ่ ต. ในเมือง อ. เมือง จ. ชัยภูมิ กล่าวอย่างภูมิใจและมั่นใจว่า “แหเปิดจอมไม่มีที่อื่น” แม้จะไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าชาวบ้านขี้เหล็กใหญ่เริ่มใช้แหเปิดจอมกันครั้งแรกเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากการที่คนในชุมชนได้รับราชการและติดต่อค้าขายนอกชุมชน ได้เปิดหูเปิดตาจนมีความคิดอ่านกว้างขวาง ได้พัฒนาแหจับปลาธรรมดาให้มีความสามารถในการจับปลาในแหล่งน้ำที่มีวัชพืชรกได้เป็นอย่างดี
วิธีการใช้งาน ต้องใช้คนอย่างน้อยสามคนช่วยกันกางแหออกเป็นวงกว้าง แล้วจึงตุ้มตีนแห คือการกดปลายแหหรือลูกแหฝังดินจนหมด เหลือไว้เพียงด้านเดียวเพื่อให้ปลาเข้า จากนั้นนจึงกางแหออกเป็นปีกสองข้างแล้วโอบเข้าเป็นวง ใช้โฉ่งฉ่าง คือไม้ติดกระดึงคอยกระทุ้งน้ำฝั่งตรงข้ามที่ตุ้มตีนแห เพื่อให้ปลาตกใจจนว่ายเข้ามาติดแห เมื่อไล่ปลาเสร็จแล้วจึงตุ้มตีนแหที่เหลือเพื่อกันไม่ให้ปลาว่ายหนี แล้วเปิดจอมแหหรือส่วนบนของแห เพื่อเก็บเศษวัชพืชออกมานอกแห เมื่อทิ้งหมดแล้วจึงงมปลาในแห ซึ่งจะมีปลาหลายชนิด เช่น ปลาช่อน ปลากราย ปลานิล ปลาหมอ ปลาแยง ปลาค้าว ปลาชะโด เป็นต้น
การใช้แหเปิดจอมในแต่ละวันจะใช้ได้เพียง ๓-๔ ครั้งเท่านั้น เพราะแต่ละครั้งต้องใช้เวลามาก แต่ก็จับปลาได้ครั้งละ ๕-๒๐ กก. โดยช่วงเวลาที่จับปลาได้ดีจะเป็นช่วงน้ำนิ่ง คือเดือนมีนาคม-เมษายน
คุณสุทธิบอกว่า แหเปิดจอมแสดงถึงวิธีคิดและวิถีชีวิตของคนบ้านขี้เหล็กใหญ่ที่มี่อยู่ประมาณ ๗๐๐ ครัวเรือน ว่าเป็นคนขยัน ไม่กลัวความทุกข์ยาก แม้แหล่งน้ำไม่เหมาะกับการหาปลา แต่ก็คิดหาวิธีจนได้ แม้ปัจจุบันจะหาปลาได้ยากเพราะหนองน้ำและลำห้วยเหลือน้อยลง บางพื้นที่ถูกกประกาศเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ เช่น หนองปลาเฒ่า หนองหลอด รวมถึงมีการตั้งกฎกติการใหม่ในการจับปลา เช่น กำหนดช่วงเวลาการจับปลา การเรียกค่าใช้จ่ายในการจับปลา เป็นต้น ตลอดจนปลาเหลือน้อยลงด้วยเช่นกัน เพราะสารเคมีทางการเกษตรไหลลงสู่แหล่งน้ำ และมีการช็อตปลาทำให้ปลาลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว