เบ็ดลอยมีส่วนประกอบคือ ทุ่นและตัวเบ็ด ส่วนทุ่นเป็นซีกเปลือกมะพร้าวแห้ง ที่เพิ่มความแข็งโดยการใช้ไฟเผาผิวและใยรกรุงรังด้านใน เมื่อเผาแล้วต้องขูดให้เรียบร้อย โดยมีเคล็ดลับว่าจะไม่เลือกใช้เปลือกมะพร้าวธรรมดาหรือมีใยรก เพราะวัชพืชหรือฝุ่นจะเกาะติดง่าย ทั้งอาจบวมน้ำจนราขึ้น ทำให้อายุการใช้งานสั้นลง
เมื่อแต่งทุ่นเสร็จแล้ว จึงเจาะรูกลางซีกมะพร้าวเพื่อร้อยสายเบ็ดยาวประมาณ 20 ซม. ที่เกิดจากการฟั่นเชือกสามเส้นเข้าด้วยกัน มัดปมไว้ด้านบน ปลายเชือกด้านล่างมัดติดกับตัวเบ็ด
ตัวเบ็ดมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 ซม. ยาว 10 ซม. งอกว้าง 3 ซม.
ชาวบ้านจะพายเรือ นำเบ็ดลอยหลาย ๆ อัน ไปลอยกลางแหล่งน้ำ คอยสังเกตว่าเบ็ดลอยอันใดเคลื่อนไหวผิดปกติ แสดงว่าปลากำลังฮุบเหยื่อ จึงรีบพายเรือไปปลดปลาออกจากเบ็ดลอย
เหยื่อที่ใช้มีทั้ง ข้าวสุกเหนียว กล้วยสุก รำบีบเป็นก้อน กุ้ง เป็นต้น
ปลาที่มักจับได้คือปลาเทโพ เพราะชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง จึงติดเบ็ดได้ง่าย เมื่อจับได้แล้ว ชาวบ้านนิยมนำไปทำแกงเทโพ แกงกะทิ แกงเผ็ด หรือฉู่ฉี่ หากเหลือจากกิน เก็บ และแจกจ่าย ก็จะนำไปขาย นอกจากนี้ยังจับได้ปลาตะเพียน ปลาสวาย ปลาช่อน บ้าง แล้วแต่เหยื่อที่เลือกใช้
ปัจจุบัน ชาวบ้านเปลี่ยนจากทุ่นกาบมะพร้าวมาเป็นทุ่นพลาสติก เพราะหาได้ง่ายและทนทานกว่า ไม่ต้องเสียเวลาตกแต่งเช่นวัสดุธรรมชาติ
เบ็ดลอย
อัพเดตเมื่อ 24 เม.ย. 2564
คำอธิบาย